1527 จำนวนผู้เข้าชม |
ปมปัญหาข้อพิพาทประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยเกิดความไม่เข้าใจตรงกันอยู่บ่อยครั้งคือ ความเสียหายของรถยนต์ที่เรียกกันว่า ”คืนทุน” ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเสียหายในระดับไหนที่ต้องคืนทุน และเมื่อคืนทุนแล้วค่าสินไหมทดแทนที่เป็นมาตรฐาน บริษัทผู้รับประกันภัยต้องจ่ายเท่าไหร่?
คำว่า ”คืนทุน” นั้นเป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในวงการประกันภัย ส่วนศัพท์ที่ใช้อย่างเป็นทางการคือ ”รถยนต์เสียหายอย่างสิ้นเชิง”
โดยความเสียหายต่อรถยนต์ในความหมายประกันภัย เพื่อความคุ้มครองมีอยู่ 2 สถานะด้วยกันคือ ความเสียหายอย่างสิ้นเชิง และ เสียหายแต่ไม่สิ้นเชิง
คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ถือเป็นกฏหมายเพราะออกตามคำสั่งนายทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อธิบายว่า รถยนต์เสียหายอย่างสิ้นเชิง หมายถึง รถยนต์เสียหายจนไม่อาจซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมได้หรืออาจหากจะซ่อมรถยนต์คันนั้นให้กลับคืนสภาพเดิม ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมไม่น้อยกว่าร้อยล่ะ70 ของมูลค่ารถยนต์ในขณะที่เกิดความเสียหาย ดังนั้นหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจนเป็นผลให้รถยนต์ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงแล้ว บริษัทมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ (แต่กรณีที่มีการออกเอกสารแนบท้าย ร.ย.24 ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้แล้ว บริษัทจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามส่วนได้เสียก่อน)
และหากรถยนต์คันนั้นได้ทำประกันภัยไม่น้อยกว่าร้อยล่ะ 80 ของมูลค่ารถยนต์ในขณะเอาประกันภัยแล้ว ในกรณีรับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนตามที่กล่าวไว้ในวรรคต้นนั้น ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์แล้วแต่กรณี จะต้องโอนรถยนต์ให้แก่บริษัทด้วย โดยบริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการโอนนั้นทั้งหมด ไม่ว่าค่าธรรมเนียมการโอน ตลอดจนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
เสียหายแต่ไม่ถึงเสียหายสิ้นเชิง หมายถึง แต่หากรถยนต์นั้นไม่ถึงกับเสียหายสิ้นเชิง บริษัทและผู้เอาประกันภัยอาจทำความตกลงได้ถึงวิธีการชดใช้ ว่าจะให้บริษัทรับผิดชอบใช้โดยวิธีการซ่อมหรือการเปลี่ยนรถยนต์ หรือชดใช้เป็นเงินก็ได้ แต่หากคู่กรณีไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ดำเนินการจัดซ่อมโดยอู่กลางการประกันภัยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยแต่งตั้ง
กรณีจัดซ่อมโดยอู่กลางการประกันภัยแล้วก่อให้เกิดความบกพร่อง หรือความเสียหายเพิ่มขึ้นหรือการจัดซ่อมล่าช้า บริษัทไม่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว เว้นแต่อู่กลางการประกันภัยนั้นเป็นอู่คู่สัญญาของบริษัทประกันภัยด้วย
อย่างไรก็ตาม หากอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมแซมหรือจัดเปลี่ยน ไม่อาจหาได้ในท้องตลาดจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว บริษัทจะรับผิดไม่เกินราคานำเข้าที่ส่งมาทางเรือเท่านั้น!!